สวัสดี

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จับตา ‘เศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร’ ขุมทรัพย์มูลค่านับแสนล้าน  (อ่าน 2727 ครั้ง)

Admin
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1088
    • ดูรายละเอียด
จับตา ‘เศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร’ ขุมทรัพย์มูลค่านับแสนล้าน

Main Idea
 •   มีการคาดการณ์ว่าในปี 2579 การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 25.30 ล้านลิตร/วัน (เอทานอล 11.30 ล้านลิตร/วัน ไบโอดีเซล 14 ล้านลิตร/วัน)
 •   แต่การปลูกพืชเพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นพลังงาน ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวกันกับพืชอาหารหลัก เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน อาจทำให้กลไกตลาดรวน รวมถึงกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคตได้
 •   หนึ่งในหนทางแก้ไขปัญหาสู่ความยั่งยืน คือ การนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรมาใช้ผลิตทดแทน ซึ่งหากสามารถจัดเก็บเข้าระบบได้ อาจสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจของประเทศได้กว่าแสนล้านบาททีเดียว

               ประเทศไทยเราได้ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศกสิกรรม มีการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ อยู่มากมาย ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการทำเกษตรกรรมในปัจจุบันนั้น ไม่เพียงแต่นำมาใช้เป็นอาหารเพื่อบริโภคทั้งภายในและนอกประเทศ แต่ปัจจุบันยังมีการนำไปแปลงเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ วัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะเศษวัสดุเหลือทิ้งทางเกษตร ซึ่งหากสามารถนำมาเข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้อง และพัฒนาโดยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้กว่านับแสนล้านบาททีเดียว รวมถึงเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการแสวงหาพลังงานทดแทนที่ยั่งยืนอีกด้วย
 
     จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuels) โดยคาดว่าในปี 2579 จะเพิ่มการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพสูงขึ้นถึง 25.30 ล้านลิตรต่อวัน (เอทานอล 11.30 ล้านลิตรต่อวัน ไบโอดีเซล 14 ล้านลิตรต่อวัน) ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2557 คือ 6.1 ล้านลิตรต่อวัน สาเหตุพื้นฐานมาจากความกังวลต่อการขาดแคลนและต้องการลดการพึ่งพิงน้ำมันเชื้อเพลิงจากแหล่งฟอสซิล (Fossil Based) เพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก ช่วยส่งเสริมรายได้เกษตรกร และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาน้ำมันทดแทนอย่างยั่งยืน เพราะพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพสามารถสร้างขึ้นใหม่ได้เรื่อยๆ และเชื่อว่าเป็นทางออกที่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย

     แต่อย่างไรก็ดี การนำพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบจำพวกเดียวกับพืชอาหารหลักมาทำ อาทิ ปาล์มน้ำมัน อ้อย และมันสำปะหลัง ย่อมเกิดปัญหาแฝงตามมาทั้งในเรื่องของกลไกตลาด เช่น เกษตรกรอาจหันมาปลูกพืชพลังงานมากกว่าพืชอาหาร เพราะได้ราคาดีกว่า หรือหากขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปให้มากขึ้นอีกก็อาจบุกรุกพื้นที่ป่า มีการเผาเรือกสวนไร่นา เพื่อเตรียมแปลงเพาะปลูก ฯลฯ รวมไปถึงการขาดแคลนหรือแย่งวัตถุดิบเกิดขึ้น เนื่องจากมีความต้องการจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ จนท้ายที่สุดอาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในอนาคต (Food Security) ได้
 
เศษเหลือใช้ทางเกษตร ทรัพย์ในดิน ทางออกพลังงานยั่งยืน
     ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม และมีศักยภาพสามารถปลูกพืชได้หลากหลาย การแสวงหาวัตถุดิบทางเลือกอื่นที่ไม่ได้มาจากพืชอาหารนั้นยังสามารถทำได้ รวมถึงเศษวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร (Biomass) ก็มีจำนวนค่อนข้างมาก อาทิ เศษไม้ยางพารา ทะลาย/กะลาปาล์ม น้ำมัน/กาบ/กะลามะพร้าว แกลบ ฟางข้าว กากอ้อย ซังข้าวโพด เหง้ามันสำปะหลัง โดยสามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าทิ้งหรือทำลาย รวมถึงการนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงได้ด้วย

     มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าจากปริมาณเศษเหลือใช้ทางการเกษตรคงเหลือทั้งหมดสามารถทำให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้ โดยคำนวณจากความสามารถในการเปลี่ยนเศษเหลือใช้เป็นค่าพลังงาน เพื่อเทียบเท่ากับน้ำมันดิบ พบว่าเศษเหลือใช้จากการเกษตรคงเหลือทั้งหมด สามารถผลิตเป็นน้ำมันชีวภาพจนเกิดมูลค่าเฉลี่ยสูงถึงกว่าแสนล้านบาทต่อปี

     โดยในทุกๆ 1 ตันเศษเหลือใช้ทางการเกษตรจะมีมูลค่าเฉลี่ย 2 บาท (เทียบมูลค่าน้ำมันดิบ) ทั้งนี้ในทางทฤษฎีแล้วการใช้วัตถุดิบเศษเหลือจากการเกษตรนั้น สามารถทดแทนปริมาณการผลิตของน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชอาหารที่ผลิตได้ทั้งหมด เนื่องจากสามารถผลิตได้เฉลี่ยถึง 33 ล้านลิตรต่อวัน (ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องสามารถจัดเก็บเศษเหลือใช้จากการเกษตรที่มีอยู่ในประเทศได้ทั้งหมด โดยไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง) เมื่อเทียบกับการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชอาหารในปัจจุบัน ซึ่งสามารถผลิตได้เพียง 7- 8 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น
 
เริ่มต้นจัดเก็บดี ก็มีชัยไปกว่าครึ่ง
                    ที่กล่าวมานั้นเป็นการคำนวณเชิงทฤษฏี ในการปฏิบัติจริงต้องดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ประกอบด้วยว่าสามารถทำได้มากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันเศษเหลือใช้จากการเกษตรนั้นกระจายอยู่ในหลายแห่งทั่วประเทศ และยังขาดระบบการรวบรวมที่มีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเริ่มแรกภาครัฐและเอกชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ควรจัดให้มีการรณรงค์ให้ความรู้เพื่อตระหนักถึงคุณค่าเศษเหลือใช้แก่เกษตรกรในแต่ละพื้นที่อย่างทั่วถึง รวมถึงช่วยออกแบบวางระบบรวบรวม ออกแบบการจัดเก็บที่ทำให้อยู่ในคุณภาพที่สามารถใช้งานได้ และระบบการขนส่งที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือในฝั่งของอุตสาหกรรมการผลิตให้เกิดขึ้นได้จริงจากภาครัฐด้วย เพราะต้องใช้การลงทุนที่ค่อนข้างสูง และเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ แต่หากสามารถทำได้ก็จะส่งผลดีระยะยาวต่อประเทศได้

     ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงจากเศษเหลือใช้ทางการเกษตรนั้น ในระยะเริ่มแรกอาจจะต้องพึ่งพาการสนับสนุน เพื่อให้เกิดการรวบรวมเศษเหลือใช้ให้เป็นระบบ และการลงทุนในอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพขึ้น เนื่องจากพิจารณาแล้ว นอกจากจะสามารถสร้างมูลค่าให้สิ่งเหลือใช้กลายเป็นสินค้ามูลค่าสูงแล้ว (High Value Products: HVP) เช่น การผลิตเป็นน้ำมันชีวภาพจากเศษเหลือใช้จากการเกษตร ที่มีมูลค่าได้ถึงแสนกว่าล้านบาทต่อปี

     แนวคิดการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางเกษตรมาผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพนั้น นอกจากอาจช่วยแก้ปัญหาทดแทนพืชพลังงานได้แล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ต่อหลายฝ่ายเป็นห่วงโซ่แห่งคุณค่าอื่นๆ ด้วย เช่น 1.การช่วยลดภาระในการกำจัดจากการไปฝังกลบหรือเผาทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกร เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) 2.สร้างรายได้และอาชีพในท้องถิ่น เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ เช่น จ้างคนเก็บและรวบรวมเศษเหลือใช้ การจ้างงานขนส่ง 3. ช่วยลดการทำลายสิ่งแวดล้อม 4.ลดการทำงานของภาครัฐในการออกนโยบายแก้ไขปัญหาเมื่อพืชผลล้นตลาด และ 5.ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพให้เกิดความยั่งยืน

     เห็นไหมละว่า แค่ลองเปลี่ยนความคิด มองหาโอกาสจากสิ่งที่มีอยู่ ถึงแม้เป็นเพียงเศษวัสดุเหลือใช้ ก็อาจสร้างประโยชน์มหาศาลให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน


ติดต่อสอบถาม