สวัสดี

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีกำหนดระยะเวลา และแผนการสร้างบ้าน ที่คุณควรรู้  (อ่าน 4522 ครั้ง)

Admin
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1088
    • ดูรายละเอียด
วิธีกำหนดระยะเวลา และแผนการสร้างบ้าน ที่คุณควรรู้

บ้านประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลากหลายส่วน ซึ่งแต่ละส่วนก็ทำหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป กว่าจะเสร็จสมบูรณ์เป็นบ้านหนึ่งหลังก็อาจต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่ง ดังนั้น เจ้าของบ้านจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาและทำความเข้าใจขั้นตอนในการสร้างบ้านรวมถึงระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านอย่างรอบคอบเพื่อที่คุณจะได้มีบ้านที่สมบูรณ์แบบ พร้อมทั้งสามารถประเมินระยะเวลาในการสร้างบ้านได้อย่างเหมาะสม

เมื่อคุณมีที่ดินอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว ลำดับแรกก็คือการเลือกแบบบ้านที่ต้องการ ซึ่งควรมีรูปทรงที่เหมาะสมกับที่ดิน ทิศทางลมและแดด สภาพแวดล้อมโดยรอบ ไลฟ์สไตล์ของผู้อยู่อาศัย ตลอดจนสดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับระยะร่นของอาคาร จากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการยื่นขอใบอนุญาตปลูกสร้างที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือ อบต. ที่จะขอปลูกสร้างบ้าน ปกติจะใช้เวลาราว 30-45 วันนับตั้งแต่วันที่ยื่นเรื่อง โดยใบอนุญาตก่อสร้างจะมีอายุ 1 ปี เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น เราจะขอยกตัวอย่างขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาในการก่อสร้างบ้านที่มีพื้นที่ 200-300 ตารางเมตร กรณีที่ถมดินหรือปรับพื้นที่เรียบร้อยแล้ว โดยจะแบ่งแผนการสร้างบ้านออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้

งานฐานราก
เป็นงานที่สำคัญที่สุดในการสร้างบ้าน ในขั้นตอนนี้จะเป็นการวางผังแนวอาคารเพื่อกำหนดตำแหน่งของเสาเข็มโดยอ้างอิงจากแบบบ้าน หลัก ๆ จะมี 2 แบบ คือ เข็มตอกและเข็มเจาะ เข็มตอกจะเหมาะกับพื้นที่กว้าง ๆ ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างข้างเคียง เพราะเข็มที่ตอกลงไปจะส่งแรงสะเทือนมาก อาจทำให้บ้านข้างเคียงทรุดหรือร้าวได้ ดังนั้น ถ้าที่ดินอยู่ในเขตชุมชน มีบ้านหรืออาคารล้อมรอบ แนะนำใช้เข็มเจาะ ซึ่งวิศวกรจะเป็นผู้คำนวณจำนวนต้นและความลึก โดยจะต้องมีผู้ควบคุมและตรวจสอบความแข็งแรงให้ตรงตามหลักวิศวกรเพื่อให้งานฐานรากได้มาตรฐาน ในขั้นตอนนี้ หากเป็นเข็มตอกจะใช้เวลาราว 7-10 วัน หากกรณีลงเข็มเจาะ จะใช้เวลาประมาณ 7-14 วัน (ยังไม่รวมเวลาบ่มคอนกรีตอีก 7 วัน) ขึ้นอยู่กับจำนวน ความลึก และอุปสรรคหน้างาน

งานโครงสร้าง
เมื่อบ้านมีฐานรากที่มั่นคงแข็งแรงแล้ว ต่อมาคืองานโครงสร้าง ซึ่งจะไล่ตั้งแต่โครงสร้างชั้นล่าง ซึ่งประกอบด้วย คานคอดิน เสา คาน และพื้นชั้นล่าง โดยอาจอาจเลือกเป็นพื้นหล่อในที่ (พื้นห้องน้ำ) ร่วมกับพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป ตลอดจนการการขุดดินเพื่อวางระบบสุขาภิบาล เช่น บ่อพักคอนกรีต ระบบท่อน้ำทิ้ง ท่อประปา เป็นต้น เพื่อเตรียมการเดินท่อเข้าภายในบ้าน แล้วจึงเป็นงานโครงสร้างชั้นสอง โครงหลังคา และโครงสร้างงานระบบสุขาภิบาล งานหล่อชิ้นส่วนตกแต่ง เช่น บัว กันสาด ขอบปูน ซึ่งโครงสร้างแต่ละส่วนจะต้องใช้ระยะเวลาบ่มคอนกรีตเช่นเดียวกับโครงสร้างชั้นล่าง นอกจากนี้ยังรวมถึงงานขึ้นโครงหลังคา หากแบบบ้านมีโครงสร้างเรียบง่ายก็อาจใช้เวลาราว 1-1.5 เดือน แต่หากเป็นบ้านที่มีโครงสร้างซับซ้อน ขั้นตอนนี้อาจกินเวลาอยู่ที่ 2-3 เดือนได้

งานสถาปัตยกรรม
เมื่อได้โครงสร้างบ้านตามแบบที่ต้องการแล้วก็มาถึงขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ งานสถาปัตยกรรม แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

- งานก่ออิฐ ฉาบปูน ใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน ในขั้นตอนนี้ หากมีการทำงานมุงหลังคาควบคู่กันไปด้วยก็จะช่วยประหยัดเวลาได้มากขึ้น
- งานระบบภายในบ้าน ได้แก่ ระบบไฟฟ้า ประปา สุขภัณฑ์ โดยช่วงแรก จะใช้เวลาเดินท่อประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนงานร้อยสายไฟ จะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นตามด้วยงานติดตั้งฝ้า ปูกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ ติดตั้งโคมไฟ ทาสี  ติดตั้งประตู หน้าต่าง และเก็บรายละเอียดส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกของตัวบ้านอีกราว 1-1.5 เดือน

4 ขั้นตอนขออนุญาตก่อสร้างบ้าน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
จะสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง นอกจากจะต้องเก็บเงิน เตรียมเรื่องกู้แล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการ “ขออนุญาตก่อสร้างบ้าน” ด้วย ซึ่งจริง ๆ แล้วขั้นตอนนี้สามารถทำได้ไม่ยุ่งยาก ลองมาดูว่าการยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้านมีขั้นตอนอย่างไร และต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างได้ที่นี่

การยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน
1. ยื่นคำร้องขออนุญาตก่อสร้างบ้านที่สำนักงานเขตท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ เช่น สำนักงานเขตหรือกรุงเทพมหานครสำนักงานเทศบาล สำนักงานเมืองพัทยา ฯลฯ ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ของจังหวัดนั้น ๆ

2. สำนักงานเขตท้องถิ่นตรวจสอบแบบแปลน โดยเฉพาะในเขตที่ประกาศใช้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคาร หรือกฎหมายผังเมืองบ้านหรืออาคาร สิ่งปลูกสร้างทุกประเภทจะต้องได้รับอนุญาตก่อสร้างบ้านก่อน และจะต้องก่อสร้างตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต

3. ได้รับหนังสืออนุญาตให้ก่อสร้าง กรณีที่ไม่ได้รับอนุญาต อาจจะมีการให้แก้ไขในบางรายละเอียด ก็ต้องดำเนินการแก้ไข และยื่นขออนุญาตอีกครั้ง

4. เมื่อได้ใบอนุญาตก่อสร้างมาแล้ว ควรทำสำเนาทั้งเก็บไว้ ที่ตัวเอง ให้สถาปนิก วิศวกร และผู้รับเหมา หรือบริษัทรับสร้างบ้าน ดำเนินการก่อสร้างบ้านต่อไป

หมายเหตุ: ในระหว่างก่อสร้าง หากมีเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหากับเพื่อนบ้าน ชุมชนใกล้เคียง เช่น เสียงดังเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด วัสดุก่อสร้างหล่น หรือมีอุบัติเหตุ จนได้รับการร้องเรียน หน่วยงานภาครัฐอาจมีคำสั่งให้หยุดงานก่อสร้างชั่วคราว จนกว่าขั้นตอนทางกฎหมายจะแล้วเสร็จจึงจะมีคำสั่งว่า จะให้ก่อสร้างต่อ หรือให้หยุดก่อสร้างถาวร

หลักฐานยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน
1. กรอกคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคารหรือรื้อถอนอาคาร (ข.1)

2. เอกสารแปลนบ้าน แบบบ้าน และรายละเอียดการก่อสร้าง ที่ได้มาตรฐานมีสถาปนิกและวิศวกรเป็นผู้เซ็นรับรองแบบ (กรณีที่ไม่มีสถาปนิก สามารถขอแบบบ้านมาตรฐานจากสำนักงานเขตท้องถิ่นในจังหวัดนั้น ๆ ได้)

3. หนังสือรับรองจากสถาปนิกผู้ออกแบบบ้าน ผู้ควบคุมและเอกสารจากวิศวกรงานก่อสร้าง

4. สำเนาโฉนดที่ดินที่จะก่อสร้าง หรือเอกสารสิทธิแสดงความเป็นเจ้าของที่ที่ดินผืนนั้น หรือกรณีเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้าน จะต้องมีเอกสารแสดงสิทธิที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของด้วย

5. สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านเจ้าของอาคาร ในกรณีเป็นนิติบุคคลใช้หนังสือรับรองการจดทะเบียน กรณีที่ไม่ได้ไปยื่นขออนุญาตก่อสร้างด้วยตัวเอง จะต้องมีหนังสือแสดงการมอบอำนาจให้กับผู้ที่เป็นตัวแทนในการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง

หมายเหตุ: จำนวนชุดของเอกสาร จะต้องสอบถามข้อมูลอัพเดตจากสำนักงานเขตท้องถิ่นที่จะยื่นขออนุญาตก่อสร้างบ้าน


ติดต่อช่าง