สวัสดี

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การปั้นหล่อพระพุทธรูปและเททอง  (อ่าน 3093 ครั้ง)

Admin
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1088
    • ดูรายละเอียด
การปั้นหล่อพระพุทธรูปและเททอง
« เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2022, 11:30:19 AM »
การปั้นหล่อพระพุทธรูป

การปั้นหล่อพระพุทธรูปแบบไทยประเพณี เป็นงานช่างแขนงหนึ่งในงานช่างสิบหมู่ของไทย จัดอยู่ในกลุ่มงานช่างหล่อซึ่งต้องเกี่ยวเนื่องกับงานปั้น เนื่องจากเมื่อจะทำรูปโลหะหล่อก็ต้องจัดการปั้นหุ่นรูปนั้นๆ ขึ้นเสียก่อน แล้วจึงเปลี่ยนสภาพรูปหุ่นนั้นเป็นรูปโลหะหล่อ กระบวนการแต่ละขั้นตอนจึงมีความสัมพันธ์กัน การปั้นหล่อพระพุทธรูปแบบประเพณีมีขั้นตอนโดยสังเขป ดังนี้

การปั้น เริ่มจากการขึ้นหุ่นและการปั้นดินแกนหรือดินหุ่นเพื่อเป็นหุ่นแกนทรายชั้นใน ขั้นตอนต่อไปคือ การทำรางรูป ตัววี ทั้งรางแกนและรางกิ่ง เพื่อเป็นทางให้โลหะหลอมละลายไหลเข้าแม่พิมพ์แทนที่ขี้ผึ้งที่ถูกขับไปจากแม่พิมพ์ จากนั้นเป็นงานทาดินมอม คือ การลงนํ้ายาชนิดหนึ่งประกอบด้วยผงขี้เถ้า ดินเหนียว และนํ้าพอสมควรผสมเข้าด้วยกันอย่างเข้มข้น เพื่อให้พื้นผิวหุ่นเรียบแน่น ตามด้วยงานทาเทือกคือการลงนํ้าเมือกชนิดหนึ่งสำหรับงานหล่อโลหะประกอบด้วยขี้ผึ้งแท้ นํ้ามันยาง เคี่ยวให้เข้ากันจนข้น เพื่อทำให้ผิวของหุ่นแกนทรายพร้อมสำหรับขั้นตอนการเข้าขี้ผึ้งหรือหุ้มขี้ผึ้งจากนั้น จึงเป็นการปั้นแต่งรายละเอียดของประติมากรรมต้นแบบให้สมบูรณ์

การทำแม่พิมพ์ เริ่มจากการทาดินนวล คือ ดินเหนียวตากแห้ง ป่นร่อนเป็นผงดินละเอียด ผสมนํ้าขี้วัว กวนให้เข้ากัน นำมาทาทับรูป ๓ ครั้ง แต่ละครั้งต้องผึ่งดินนวลให้แห้งเสียก่อน จากนั้นเป็นการตอกทอย ซึ่งเป็นเหล็กเส้นสั้นๆ ปลายแหลมตอกผ่านขี้ผึ้งไปติดหุ่นแกนทรายให้แน่น เพื่อยึดหุ่นแกนทรายกับแม่พิมพ์ชั้นที่ ๑ มิให้เคลื่อนเวลาสุมไฟไล่ขี้ผึ้ง จากนั้นติดสายชนวนขี้ผึ้ง เพื่อเป็นทางขับขี้ผึ้งจากแม่พิมพ์ ขั้นตอนต่อไปเป็นการทับดินอ่อน คือ ดินนวลผสมกับทรายละเอียดและนํ้า นวดให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว โดยพอกทับรูปขี้ผึ้งที่ตอกทอยและติดสายชนวนขี้ผึ้งเรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นแม่พิมพ์ชั้นที่ ๑ จากนั้น พอกทับด้วยดินแก่ คือ ดินที่มีส่วนผสมเป็นดินเหนียวและทรายละเอียดเจือนํ้า ขยำจนเป็นเนื้อเดียวกัน โดยพอกให้มีความหนากว่าดินอ่อนเล็กน้อยเพื่อเป็นแม่พิมพ์ชั้นที่ ๒ ตามด้วยการเข้าลวด คือ การเอาลวดรัดขัดร้อยเป็นตารางสี่เหลี่ยม เพื่อมาล้อมรัดแม่พิมพ์ป้องกันความร้อนหรือความกดดันภายในที่อาจเบ่งให้แม่พิมพ์แตกจากนั้นเป็นการเข้าดินทับปลอก คือ การนำดินแก่พอกทับแม่พิมพ์ชั้นที่ ๒ ที่เข้าลวดรัดไว้ เพื่อเป็นแม่พิมพ์ชั้นที่ ๓ ผึ่งแม่พิมพ์ให้แห้ง ๔-๗ วัน ต่อมาทำปากจอบหรือช่องกลวง ซึ่งทำขึ้นสำหรับเททองลงไปในแม่พิมพ์ และทำรูผุดริมขอบแม่พิมพ์ซึ่งทำเป็นช่องกลวงสำหรับระบายอากาศ

การหล่อโลหะ หรือ การเททอง เริ่มจากการล้มหุ่น คือการเคลื่อนย้ายแม่พิมพ์ที่หุ้มหุ่นขี้ผึ้งไปยังบริเวณที่จะเททองและการขึ้นทน คือการยกแม่พิมพ์กลับเอาด้านล่างขึ้นมาตั้งบนแท่นที่จะเททอง ทำนั่งร้าน และติดรางถ่ายขี้ผึ้ง เพื่อเป็นรางรองรับขี้ผึ้งที่ถูกละลายออกมาจากแม่พิมพ์ ต่อจากนั้นคือการสุมแม่พิมพ์โดยสุมไฟให้แม่พิมพ์ร้อนจัดจนสำรอกขี้ผึ้งออกไปจากแม่พิมพ์ ตามด้วยการหลอมทองให้ละลาย และนำไปเทลงใส่แม่พิมพ์หลังจากที่ทองเย็นตัวลงแล้ว จึงทุบแม่พิมพ์ รื้อลวดที่รัดออกตกแต่งความเรียบร้อยหลังการหล่อ ตามด้วยการรมดำ หรือลงรักปิดทองเป็นลำดับสุดท้าย

กรรมวิธีการปั้นหล่อพระพุทธรูปตามขนบประเพณีแบบโบราณของไทย สะท้อนถึงภูมิปัญญาในการเลือกใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีเทคนิคการหล่อที่เป็นเอกลักษณ์ สามารถหล่อเนื้อโลหะได้บาง ด้านในพระพุทธรูปกลวง งานช่างปั้นหล่อพระพุทธรูป จึงถือว่าเป็นงานประติมากรรมพุทธศิลป์ที่ทรงคุณค่า และยังเป็นส่วนหนึ่งที่จรรโลงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด

งานเททอง
งานเททอง มีขั้นตอนที่จะต้องจัดทำ หรือ เตรียมงานขึ้น ก่อนการเททองอยู่หลายขั้นตอนด้วยกัน คือ

- การล้มหุ่นคือ การเคลื่อนย้ายแม่พิมพ์ ที่ได้จัดทำหุ้มหุ่นขี้ผึ้งขึ้นไว้ นำไปยังบริเวณที่จะทำการเททอง
- การขึ้นทนคือ การยกแม่พิมพ์ที่ได้ย้ายมา ขึ้นตั้งบนแท่นที่ซึ่งจะทำการเททอง โดยยกแม่พิมพ์กลับเอาด้านล่าง ตั้งขึ้น
- การทำปากจอก “ปากจอก” คือ ช่องกลวงๆ ทำขึ้นไว้สำหรับเททอง หรือ โลหะหลอมเหลวลงไปในแม่พิมพ์อยู่ตรงริมแม่พิมพ์
- การทำรูผุด “รูผุด” คือ ช่องกลวงๆ สำหรับเป็นทางระบายอากาศ และ ความร้อนออกจากแม่พิมพ์ อยู่ริมขอบแม่พิมพ์ สลับกับปากจอก
- การปิดกระบาน “กระบาน” คือ ฝาปิดปากจอก และรูผุด ทำด้วยดินเหนียวผสมขี้เถ้าแกลบ ปั้นเป็นแผ่นกลมๆ คล้ายงบน้ำอ้อย ตากแห้ง นำมาปิดบนปากจอก และ รูผุดเพื่อกันความร้อนหนีออกจากแม่พิมพ์ขณะสุมไฟให้พิมพ์ร้อน
- การติดรางถ่ายขี้ผึ้ง “ร่างถ่ายขี้ผึ้ง” ทำด้วยแผ่นเหล็กบางๆ ตีให้โค้งคล้ายกาบกล้วย นำรางนี้วางรับปากกระบวน คือ ปลายสายชนวนที่อยู่ตอนล่าง ของแม่พิมพ์เพื่อถ่ายเทขี้ผึ้งในแม่พิมพ์ที่ละลายออกมา เมื่อแม่พิมพ์ได้รับการสุมไฟให้ร้อนขึ้นตามขนาด สุดปลายรางถ่ายขี้ผึ้งนี้ขุดพื้นดินให้เป็นหลุมลึกพอสมควร ใส่อ่างดินไว้ก้นหลุมสำหรับรับขี้ผึ้งที่ไหลออกมา ทางกระบวนผ่านรางลงมา

การสุมแม่พิมพ์
ก่อนการจะเททอง หรือ เทโลหะหลอมเหลวลงในแม่พิมพ์ จะต้องจัดการสุมไฟ ทำให้แม่พิมพ์ร้อนจัด เพื่อสำรอกขี้ผึ้ง ที่ได้ปั้นทำเป็นหุ่นอยู่ภายในแม่พิมพ์ หลอมเหลวละลายแล้วไหลออกมาจากแม่พิมพ์ทางช่องชนวน และกระบวนผ่านราง ถ่ายขี้ผึ้งให้หมดไปจากข้างในแม่พิมพ์ ซึ่งขั้นตอนนี้เรียกว่า “สูญขี้ผึ้ง” คือ ขับขี้ผึ้งให้หายออกไปจากข้าง ในแม่พิมพ์ จึงจะจัดการเททอง เข้าไปในช่องว่างในแม่พิมพ์ แทนที่ขี้ผึ้งที่ถูกขับให้สูญไปนั้น

เมื่อสุมพิมพ์ไล่ขี้ผึ้งจนหมดแล้ว และ แม่พิมพ์สุกพอดี จึงเริ่มราไฟลงตามลำดับ ระหว่างที่ลดไฟลงนี้เรียกว่า “บ่มพิมพ์”

พอบ่มไปได้สักระยะหนึ่ง จึงจัดการรื้อเตาออก จัดการพรมน้ำ ดับความร้อนบริเวณพื้นดินใกล้เตา และนำม้านั่งร้านมาเทียบแม่พิมพ์ เตรียมไว้สำหรับช่างหล่อ จะยกเบ้าหลอมขึ้นไปเททองต่อไป

การหลอมทอง
การหลอมทอง คือ การแปรสภาพโลหะด้วยความร้อน ให้เป็นของเหลว เพื่อจะนำไปเทใส่ลงในแม่พิมพ์ การหลอม หรือ ภาษาช่างหล่อเรียกว่า “สุมทอง” นี้จะต้องทำไปพร้อมๆ กันกับการสุมแม่พิมพ์ จึงจะเททองได้พอดีกัน

การเททอง
การเททอง เป็นงานหล่อขั้นล่าสุด ช่างหล่อ จะนำดินผสมทรายไปปิดอุดปากกระบวนเสียก่อน และใช้น้ำดินที่ เรียกว่า “ฉลาบ” พรมที่แม่พิมพ์ให้ทั่ว เพื่อประสานผิวแม่พิมพ์ให้สนิท จัดการเปิดกระบวนออกจากปากจอก และรูผุด ให้หมด จึงนำเบ้าใส่น้ำทอง ขึ้นมาเทกรอกลงในช่องปากจอกตามลำดับกันไป จนกระทั่งน้ำทองนั้นเอ่อขึ้นมาล้นรูผุด จึงหยุดการเททอง ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า ทองขังเต็มช่องว่างในแม่พิมพ์นั้นแล้ว ก็เป็นเสร็จสิ้นธุระในการเททอง

การทุบพิมพ์
ภายหลังการเททองเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว ต้องปล่อยแม่พิมพ์ และทอง หรือโลหะในแม่พิมพ์นั้นเย็นลงไปเองตามลำดับ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ ๒–๓ วัน จึงจัดการทุบแม่พิมพ์ รื้อแก้ลวดที่รัดแม่พิมพ์ออกให้หมด จนกระทั่งปรากฏ รูปประติมากรรมโลหะหล่อ ที่ได้เททองทำขึ้นนั้น

การตกแต่งความเรียบร้อย
เมื่อจัดการทุบทำลายแม่พิมพ์ออกหมด จนได้รูปประติมากรรมตามต้องการ แต่ยังเป็นรูปที่ไม่สู้เรียบร้อยดีจะ ต้องทำความสะอาดตกแต่งให้ดีงามต่อไป

อนึ่ง เนื่องด้วยคนไทยนิยม และ ยินดีกับรูปประติมากรรม โดยเฉพาะพระพุทธปฏิมากรที่มีผิวเกลี้ยงเรียบ อย่างที่ในหมู่ช่างหล่อ เรียกว่า “ผิวตึง” ดังนี้ งานประติมากรรม โลหะหล่อที่จัดเป็นศิลปแบบไทยประเพณี จึงต้องขัดแต่งทำให้ผิวเกลี้ยง และเรียบเสมอกันทั้งรูป หรือ ลงรักปิดทองให้สวยงาม

  ช่างโรงหล่อพระ ปั้นหินเทียม