สวัสดี

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 5 อุปกรณ์ พื้นฐานระบบเสียง สำหรับมือใหม่  (อ่าน 2187 ครั้ง)

Admin
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1088
    • ดูรายละเอียด
5 อุปกรณ์ พื้นฐานระบบเสียง สำหรับมือใหม่

ระบบเสียง ใครว่าการศึกษาเป็นเรื่องยาก อ่านบทความนี้แล้วคุณจะต้องร้องอ๋อในทันทีเลย ที่จริงระบบเสียงที่เราใช้กันอยู่ก็มีอุปกรณ์ที่สำคัญอยู่ไม่กี่อย่าง ที่เห็นว่ามันเยอะแยะหลายอย่างส่วนใหญ่เป็นแค่การเพิ่มจำนวนของอุปกรณ์ที่ทำงานเหมือนกันเพื่อรองรับอุปกรณ์ได้เยอะขึ้น ให้เสียงดังขึ้น รองรับเครื่องดนตรีได้เยอะขึ้น และ การทำงานที่ง่ายขึ้นนั่นเอง โดยระบบเสียงในยุคปัจจุบันตั้งแต่เล็ก ๆ ระดับร้องคาราโอเกะ ไปจนถึงคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ ระดับประเทศล้วนมีอุปกรณ์พื้นฐานเหล่านี้

1.ไมโครโฟน
แน่นอนว่าระบบเสียงต้องมีไว้เพื่อขยายเสียงอะไรซักอย่าง นั่นก็คือเสียง “พูด” ยังไงละ แรกเริ่มเดิมทีเครื่องขยายเสียงมีไว้เพื่อเพิ่มความดังเสียงของผู้พูดให้ผู้ฟังจำนวนมากได้ยิน หรือ กระจาย ระบบเสียง เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ ให้คนที่อยู่ไกลได้รับรู้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อุปกรณ์พวกนี้ถูกใช้เพื่อความบันเทิงมากขึ้น ทั้งงานคอนเสริต เปิดเพลง ร้องคาราโอเกะ แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลยคือ ไมคโครโฟน

ไมโครโฟน ทำหน้าที่อะไร ?
ไมโครโฟนทำหน้าที่รับเสียงเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบเพื่อขยายต่อไป ถ้าเปรียบเทียบไมค์โครโฟนกับอวัยวะของคนก็คือ “หู” นั่นเอง

ประเภทของไมโครโฟน
การแบ่งประเภทของ ไมโครโฟน มีหลายแบบมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เกณท์อะไรในการแบ่ง แต่ไมค์ 95% จะจัดอยู่ใน 2 ชนิดนี้เป็นหลัก ได้แก่

- ไดนามิก ไมโครโฟน
- คอนเดนเซอร์ ไมโครโฟน
 
ไดนามิกไมโครโฟน เป็นไมค์ที่ถูกใช้มาก มักพบเห็นได้บ่อย ๆ ในงาน ระบบเสียง ต่าง ๆ เป็น ไมค์เอนกประสงค์มากใช้ได้หลากหลายสถานการ ใช้สำหรับ เสียงพูด เสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ ข้อดีของไมค์ชนิดนี้คือ ใช้ง่าย เสียบแล้วใช้งานได้เลย

2.มิกเซอร์
มิกเซอร์ ทำหน้าที่อะไร ?
มิกเซอร์ แปลว่า ผสม หน้าที่หลักของมิกเซอร์ในระบบเสียงคือผสมสัญญานเสียงจากหลาย ๆ ไมค์ออกจากมิกเซอร์ไปสู่ระบบขยายต่อไป และมิกเซอร์ก็ยังมีหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งโทนเสียง EQ หรือการยกเอาพวกเอาท์บอร์ดเกียร์ หรือ เครื่องปรุงเสียงที่มีติดมากับมิกเซอร์ดิจิตอลในปัจจุบัน เป็นอุปกรณ์ที่จะต้องมีผู้ควบคุม ปรับแต่ง อยู่ตลอดเวลา ที่เห็นได้ในคอนเสริตใหญ่ ๆ มีลำโพงนับร้อยใบ ถูกควบคุมผ่านคนเพียงคนเดียวคือ มือซาวด์ หรือ คนมิกซ์เสียงนั่นเอง

สรุปหน้าที่ของ มิกเซอร์ คือ
- รวมเสียงจากหลายไมโครโฟน
- ปรับความดังเสียงของแต่ละไมโครโฟน
- ปรับแต่งเสียงต่าง ๆ เช่น EQ คอมเพลสเซอร์ เอฟเฟค
- ควบคุมเสียงของลำโพงทั้งหมด

ประเภทของ มิกเซอร์
- มิกเซอร์ดิจิตอล เป็นที่นิยมในปัจจุบันมาก เพราะ มีขนาดเล็กกว่า ปรับแต่งเสียงได้มากกว่า ราคาถูกกว่า ถ้าเทียบกับอนาล็อกมิกเซอร์ที่มีแชนแนล และ ความสามารถในการมิกซ์เท่ากัน มิกเซอร์ดิจิตอลใช้หลักการจำลองอุปกรณ์อนาล็อคให้อยู่ในรูปแบบชิพประมวลผลแบบดิจิตอล ทำให้มีขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ มิกเซอร์ดิจิตอลก็จะมีแบ่งเป็น 2 แบบอีก คือ มิกเซอร์ดิจิตอลที่มีหน้าบอร์ด มิกเซอร์ดิจิตอลแบบแร็ค
- มิกเซอร์อนาล็อค ต้นฉบับดั้งเดิมของมิกเซอร์ โดยจะใช้วงจรไฟฟ้าในการปรับแต่งเสียงต่าง ๆ ข้อดีของมิกเซอร์อนาล็อคคือได้คาแรคเตอร์เสียงที่ดิจิตอลทำได้ยาก มีรายละเอียดเสียงที่ดีมาก ไม่ถูกลดทอนจากการแปลงสัญญานเหมือนพวกดิจิตอล แต่ก็มีขนาดใหญ่มาก ถ้าเทียบกับมิกเซอร์ดิจิตอล แต่ก็ยังเป็นที่นิยมอยู่ในปัจจุบัน

3.เครื่องปรุงแต่งเสียง
เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยเพิ่มประสิธิภาพให้ระบบเสียงได้ดีมาก เปลี่ยนลำโพงเสียงแย่ให้เสียงดีได้เหมือนเปลี่ยนผีให้เป็นคนอะไรประมาณนั้นเลย โดยคนไทยให้ฉายาอุปกรณ์ประเภทนี้ว่า “เครื่องปรุงแต่งเสียง” นั่นเอง จะมีลักษณะเป็นแท่นบาง ๆ มีปุ่มปรับเยอะ ๆ มักอยู่ในแรคซ้อนกันเป็นตั้ง ๆ หลายคนหลงไหลในระบบเสียงเพราะสิ่งนี้แหละ

เครื่องปรุงแต่งเสียง ทำหน้าที่อะไร ?
ก็ตามชื่อเลยครับ เอาไว้ปรับแต่งเสียง ไม่ว่าจะเป็น EQ คอมเพลสเซอร์ ครอสโอเวอร์ Gate ล้วนเป็นเครื่องปรุงแต่งเสียงทั้งสิ้น โดยหน้าที่ของแต่ละส่วนก็แตกต่างกันไป ในอดีตอุปกรณ์พวกนี้จะอยู่แยกกัน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีได้รวมสิ่งเหล่านี้เข้ามาอยู่ในรูปแบบดิจิตอลหมดแล้ว โดยจำลองจากเครื่องปรุงแต่งเสียงแบบอนาล็อคตามนี้เลย

EQ หรือ Equalizer
EQ ย่อมาจาก equalizer โดยรากศัพท์แล้วแปลว่า “ผู้ที่ทำให้เท่ากัน” ทำหน้าที่ปรับแต่งความถี่ให้ลำโพงให้มีความเท่ากันกับเสียงที่เราต้องการ ที่เรียกกันติดปากว่าที่ปรับเสียง เบส กลาง แหลม นั่นแหละ แต่ EQ ในเครื่องปรุงแต่งเสียงจะมีความละเอียดกว่ามาก โดยปรับได้เป็นหลักทศนิยม และ ยังเลือกความกว้างแคบ รูปแบบต่าง ๆ ได้ละเอียดมาก

คอมเพลสเซอร์ (Compressor)
คอมเพลสเซอร์ แปลว่าผู้บีบอัด ทำหน้าที่บีบอัดความดังของสัญญานให้ไม่แกว่งจนเกินไป อุปกรณ์ตัวนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะ ช่วยสร้างคาแร็คเตอร์ของเสียงให้มีความหนา กลม กระชับ มากขึ้น จนปัจจุบันแม้อุปกรณ์เครื่องปรุงแต่งเสียงจะค่อย ๆ เลือนหายไปแต่คอมเพลสเซอร์ก็ยังมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ

ลิมิตเตอร์ (Limitter)
ลิมิตเตอร์ แปลว่า จำกัด ทำหน้าที่จำกัดสัญญานเสียงไม่ให้ดังเกินกว่าที่เรากำหนดไว้ เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมากในการป้องกันความเสียหายของดอกลำโพงจากการเปิดเสียงดังจนเกินไป ถ้าตั้งลิมิตเตอร์ได้ดีบอกเลยไม่ว่าจะอัดดังแค่ไหนดอกก็ไม่ขาด ใช้ได้ยาว ๆ หมดห่วงเรื่องดอกพัง ในอดีตจะอยู่ในรูปแบบอนาล็อคแต่ปัจจุบันไปอยู่ในดิจิตอลเกือบทั้งหมดแล้ว

Gate
Gate เป็นอุปกรณ์ที่ไม่ค่อยได้พบบ่อย และ ไม่ค่อยได้ใช้ในการปรับแต่งเสียงลำโพง ตัวนี้ทำหน้าที่ช่วยเปิดปิดสัญญานเสียงอัตโนมัติ โดยถ้าไม่มีสัญญานเสียงป้อนเข้ามา หรือ มีสัญญานเสียงอ่อน ๆ ตัว Gate จะปิดไม่ยอมให้สัญญานเสียงผ่านออกไปได้ แต่ถ้ามีสัญญานดังจนถึงจุดที่เรากำหนดไว้ ตัว Gate จะเปิดให้เสียงผ่านไปได้ ส่วนมากเอาไว้ลด Noise หรือเสียง ซ่า อ่อน ๆ ที่ออกจากลำโพง ถ้าใช้ Gate จะช่วยให้เสียง Noise ลดลง หรือ หายไปได้

ครอสโอเวอร์
ครอสโอเวอร์ อุปกรณ์ตัวสำคัญที่สุด ขาดไม่ได้ในระบบเสียงที่มีลำโพงเยอะ ๆ ทำหน้าที่เรียบง่ายแต่ทำให้ประสิธิภาพของระบบเสียงโดยรวมสูงขึ้นแบบเยอะมาก ๆ หน้าที่แบ่งความถี่ให้ลำโพงแต่ละตัวทำงานที่ตัวเองถนัด ยกตัวอย่างเช่น ให้ลำโพงเสียงแหลมทำงานแค่ความถี่สูง ๆ เท่านั้น ให้ลำโพงดอกใหญ่ ๆ ทำงานที่ความถี่ต่ำเท่านั้น อย่างนี้เป็นต้น การแบ่งความถี่แบบนี้เรียกตามภาษาบ้าน ๆ ว่าการตัดครอสนั่นเอง

ครอสดิจิตอล หรือ ดิจิตอลโปรเซสเซอร์
ในยุคสมัยใหม่ได้มีการรวมเอาอุปกรณ์ปรุงแต่งเสียงต่าง ๆ มารวมไว้ในรูปแบบดิจิตอลทั้งหมดแล้ว โดยที่คนไทยมักเรียกติดปากกันว่า ไดเวอร์แรค ครอสดิจิตอล นั่นเอง จะมีลักษณะเป็นแท่นขนาด 1U ด้านในใช้ชิพประมวลผลเพื่อเลียนแบบวงจรแบบอนาล็อก จึงมีฟังก์ชันครบครันในตัวเดียว สามารถบันทึกการตั้งค่าได้ในตัว ตู้ลำโพงส่วนมากจะแถมการตั้งค่าประจำตู้สำหรับใช้กับโปรเซสเซอร์ที่เรียกกันว่า “พรีเซ็ต” เพื่อให้เสียงของตู้ดีขึ้นยิ่งไปอีก

4.เพาเวอร์แอมป์
หนึ่งในหัวใจหลักของระบบเสียง เป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนขุมพลังของระบบเสียงเลยก็ว่าได้ กินไฟมากที่สุดในระบบเสียง ทำงานหนักที่สุด เป็นเครื่องยนต์ของระบบเสียงเลยก็ว่าได้ ในระบบเสียงแต่ละชุดจะใช้ปริมาณเพาเวอร์แอมป์ต่างกัน ทั้งจำนวน และ ขนาดในการใช้พาวเวอร์แอมป์ก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้ลำโพงมากน้อยเท่าไร ถ้าลำโพงเยอะ พาวเวอร์แอมป์ก็จะยิ่งเยอะตามไปด้วย

เพาเวอร์แอมป์ มีหน้าที่อะไร ?
หน้าที่ของเพาเวอร์แอมป์คือ ขยายสัญญานให้มีกำลังมากพอที่จะทำให้ลำโพงมีเสียงได้ แน่นอนว่าสัญญานพูดที่เข้ามาที่ไมโครโฟนนั้นอ่อนมาก ถึงจะถูกขยายด้วยปรีไมค์ในมิกเซอร์แล้วก็ยังมีกำลังไม่พอที่จะขยับดอกลำโพงใหญ่ ๆ ได้ ดังนั้นเพาเวอร์แอมป์จึงมารับช่วงต่อ กำลังของเพาเวอร์แอมป์นั้นบอกเป็น วัตต์ ยิ่งวัตต์สูงก็ยิ่งขับลำโพงได้ดังขึ้น หลายใบมากขึ้น แต่ก็มีขนาด และ น้ำหนักมากขึ้นเช่นเดียวกัน

ใช้ เพาเวอร์แอมป์ กี่วัตต์ดี ?
แนะนำให้วัตต์ RMS ของเพาเวอร์แอมป์ เท่ากับ วัตต์โปรแกรมของลำโพง อย่างน้อยควรเลือกให้วัตต์ RMS ของลำโพง และ เพาวเวอร์แอมป์เท่ากันพอดี แต่ให้เลือกเผื่อไว้ก่อนได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าถ้าวัตต์ของเพาเวอร์แอมป์มากเกินไปจะทำให้ดอกลำโพงขาด เราสามารถกำหนดกำลังขยายของเพาเวอร์แอมป์ได้ในภายหลัง

5.ลำโพง
ลำโพง อุปกรณ์ปลายสุดท้ายของระบบเสียง ลำโพงมีส่วนสำคัญมากที่จะบอกว่าระบบเสียงนั้นเสียง ดี และ ดัง มากแค่ไหน ในงานคอนเสิร์ตใหญ่ ๆ มีการใช้ลำโพงหลายร้อยใบเพื่อให้เสียงมีความดังครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ ลำโพงมักเป็นตัวกำหนดว่าเราควรจำใช้เพาเวอร์แอมป์กี่แท่น ใช้โปรเซสเซอร์ตัวไหนถึงจะเหมาะ ดังนั้นแนะนำให้เลือกลำโพงก่อนเป็นอันดับแรกในการจัดชุดเครื่องเสียง

ลำโพง มีหน้าที่อะไร ?
ลำโพงมีหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง โดยอุดมคติแล้วลำโพงควรผลิตเสียงให้มีความเหมือน หรือ ใกล้เคียงกับสัญญานที่ป้อนเข้ามาให้มากที่สุด แต่ยิ่งลำโพงมีคุณภาพดีเท่าไร ก็ยิ่งแพงมากขึ้นเท่านั้น แต่ในเทคโนโลยีปัจจุบันมีการใช้ครอสดิจิตอลเข้ามาช่วยเพื่อปรับแต่งคุณภาพเสียงให้ลำโพงเสียงดีขึ้นมาก แต่อย่างไรก็ตามการเลือกลำโพงที่เสียงดีตั้งแต่แรกก็เป็นผลดีกว่าการแก้โดยใช้โปรเซสเซอร์


ติดต่อสอบถาม