สวัสดี

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โครงการ การจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร  (อ่าน 4080 ครั้ง)

Admin
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1088
    • ดูรายละเอียด
โครงการ การจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรใน  8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมีส่วนร่วม

ความเป็นมา
การเผาทำลายเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพอากาศ  โดยกรมควบคุมมลพิษได้ระบุว่าค่าการปลดปล่อยฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM10 จากการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมีค่า 7 กิโลกรัมทุก 1,000 กิโลกรัมของเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่ถูกเผาไหม้ โดยผลกระทบทางด้านสุขภาพจากปัญหาหมอกควันพิษ แม้ว่าเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเหล่านี้จะสามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่มีมูลค่าได้  แต่ปัญหาการต้องพลิกกลับกองไม่เป็นการจูงใจแก่เกษตรกรเพราะสิ้นเปลืองแรงงาน ใช้เวลานาน 3-6 เดือน และยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณน้อยครั้งละประมาณ 1 ตันเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนพื้นที่เพาะปลูกโดยเฉลี่ยของเกษตรกร (ครัวเรือนละ 5-30 ไร่) ในขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงดินในปริมาณสูงถึง 0.3 – 3 ตันต่อไร่

    คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้มีการวิจัยทำให้ได้มีองค์ความรู้ใหม่ในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ไม่ต้องพลิกกลับกองและให้ได้ปริมาณครั้งละมาก ๆ เพียงพอต่อการใช้ของเกษตรกร โดยพบว่าการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธี วิศวกรรมแม่โจ้ 1 มีการไหลเข้าไปในกองปุ๋ยของอากาศตามธรรมชาติ (PASSIVE AERATION) จากปรากฎการณ์พาความร้อนแบบปล่องไฟ (CHIMNEY CONVECTION) จะทำให้สามารถทดแทนการพลิกกลับกองปุ๋ยได้ และมีข้อดีคือไม่ต้องใช้ไฟฟ้า สามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ในบริเวณแปลงเพาะปลูก เกษตรกรจะสามารถผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบกองแถวยาวได้ถึงครั้งละ 10-100 ตัน โดยไม่ต้องพลิกกลับกอง ได้ปุ๋ยอินทรีย์ภายใน 2 เดือน มีคุณภาพตามที่มาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2551 ใช้วัตถุดิบเพียงสองชนิดคือเศษใบไม้และมูลสัตว์ในอัตราส่วน 3 ต่อ 1 โดยปริมาตร (ถ้าเป็นฟางข้าวหรือเศษข้าวโพดให้ใช้ 4 ต่อ 1 โดยปริมาตร) จากความสำเร็จด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้จึงได้ก่อตั้งฐานเรียนรู้การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำเศษใบไม้ในมหาวิทยาลัยมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์อย่างต่อเนื่องทั้งปี เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าชมและศึกษา โดยพบว่า ฟางข้าวและเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลายได้ง่ายที่สุด

    เพื่อให้มีการนำนวัตกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์วิธีวิศวกรรมแม่โจ้  1 ถ่ายโอนเทคโนโลยีสู่การปฏิบัติ เพื่อให้การเกษตรกรรมของประเทศมีแนวทางใหม่ในการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรที่มีปริมาณมากมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ด้วยวิธีที่จูงใจเกษตรกรมากกว่าแบบเดิมนั่นคือไม่ต้องพลิกกลับกอง เพื่อให้ลดการเผาที่สร้างปัญหาหมอกควัน กองทุนสิ่งแวดล้อมจึงให้มีการดำเนินโครงการ “การจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนอย่างมีส่วนร่วม” ที่มีการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในลักษณะของเครือข่ายฐานเรียนรู้ มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน โรงเรียน และ อปท. อันจะทำให้การดำเนินงานของฐานเรียนรู้มีความยั่งยืนแม้ว่าโครงการจะเสร็จสิ้นลง ส่งผลให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมด้านอากาศมีแนวทางเลือกใหม่ที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

เกษตรฯรวมพลังหยุดการเผา จากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

เกษตรฯรวมพลังหยุดการเผาสร้างมูลค่า จากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
              เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 พุทธศักราช 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสสำคัญดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในไร่นาและชุมชน ลดการเผาวัสดุเหลือใช้ และส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตและพลังงานชีวมวล

            สำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่าจากสถานการณ์ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาวิกฤตหมอกควันปกคลุม และเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่ง คือ การเผาในพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง กล่าวคือ การเผาในพื้นที่การเกษตรเป็นการทำลายโครงสร้างและความอุดมสมบูรณ์ของดิน ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นด้วย ดังนั้น จึงได้สนับสนุนการนำเศษวัสดุการเกษตรมาทำประโยชน์ เพิ่มมูลค่า ทดแทนการเผา

        “รูปแบบการดำเนินงานได้ใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ 882 แห่ง ร่วมกับศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ซึ่งมีผู้นำเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรที่มีเครือข่ายครอบคลุมทุกอำเภอทั่วประเทศ มาดำเนินการถ่ายทอดความรู้แก่ เกษตรกร จำนวนไม่น้อยกว่า 26,460 ราย โดยมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นให้เกษตรกรใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน อีกทั้งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นา เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนอย่างยั่งยืน”
              อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเผยต่อว่าประเทศไทยมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นจำนวนมากถึง 43 ล้านตันต่อปี แต่มีการนำมาใช้ประโยชน์เป็นส่วนน้อย และได้ถูกปล่อยทิ้งไว้ในพื้นที่เพาะปลูกหรือถูกเผาทิ้ง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษหมอกควัน กรมส่งเสริมการเกษตรตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2557  จนถึงปัจจุบัน

               โดยในปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดทำ “โครงการรวมพลังสร้างมูลค่าจากไร่นาสู่สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติถวายในหลวง รัชกาลที่ 10 ในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนี้ ซึ่งโครงการได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2562 ถึงพฤษภาคม 2563 โดยรณรงค์ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดประโยชน์ในไร่นาและชุมชน ผ่านกิจกรรมการอบรมถ่ายทอดความรู้เรื่องการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตรและการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อจำหน่ายเป็นพลังงานชีวมวลให้แก่ผู้รับซื้อผ่านการเชื่อมโยงตลาด โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร และศูนย์เครือข่ายทั่วประเทศ เป็นผู้ขับเคลื่อนดำเนินงาน เพื่อสร้างทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรให้เกิดมูลค่าใน 8 กิจกรรมด้วยกัน
              สำหรับทางเลือกในการเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้การเกษตรให้เกิดมูลค่า ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1 การไถกลบตอซังฟางข้าว ใบอ้อย หรือเศษซากพืช เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดิน คืนชีวิตให้ดิน ช่วยปรับปรุงโครงสร้างดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนได้รับผลผลิตสูง มีรายได้เพิ่มขึ้น ทางเลือกที่ 2 นำเศษตอซังฟางข้าว หรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูก มาทำปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
               ทางเลือกที่ 3 นำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อน หรือนำมาทำอาหารหมักเพื่อใช้เลี้ยงโค ทางเลือกที่ 4 นำมาใช้ประโยชน์เป็นพลังงานทดแทน โดยนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งหรืออัดก้อน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือนำมาใช้ทำอาหารในครัวเรือน ทางเลือกที่ 5 นำมาเพาะเห็ด นำมาผลิตกระดาษ หรือของประดับ ทางเลือกที่ 6 นำเศษใบไม้ เศษฟาง เศษหญ้าแห้งมาคลุมบริเวณโคนต้นพืช เก็บรักษาความชื้น “อุ้มน้ำ อุ้มปุ๋ย” ทางเลือกที่ 7 นำเปลือกซังข้าวโพดหรือฟางมาทำวัสดุเพาะปลูกทดแทนการเผา ซึ่งจะช่วยลดการเผา และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และทางเลือกสุดท้าย จำหน่ายวัสดุเหลือใช้การเกษตร เช่น แกลบ ชานอ้อย เศษไม้กากปาล์ม กากมัน ซัง ข้าวโพด เศษไม้ ขยะ เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานชีวมวล(Biomass)

               สำราญย้ำด้วยว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเป็นพลังงานชีวมวล ระหว่าง ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) กับ บริษัท แอ๊บโซลูท คลีน เอ็นเนอร์จี้ จำกัด (มหาชน) นำร่องดำเนินการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่แจ่ม, สารภี, ดอยหล่อ, เชียงดาว และดอยเต่า โดยพิจารณาศักยภาพความพร้อมของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) และเครือข่ายว่ามีความพร้อมและความต้องการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ไม่สามารถย่อยสลายหรือนำมาทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ได้และมีคุณสมบัติที่สามารถนำมาเป็นปัจจัยการผลิตพลังงานชีวมวล
               และพื้นที่ต่อไปที่คาดว่าจะมีความพร้อมและความต้องการขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อผลิตเป็นพลังงานชีวมวลของ ศพก. อีกหนึ่งแห่ง คือ อำเภอคลองเขื่อน จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการจะดำเนินกิจกรรมร่วมกับเกษตรกรในการสร้างคุณค่าและมูลค่าของเศษวัสดุทางการเกษตร ให้ความรู้ความเข้าใจกับชุมชนถึงประโยชน์จากเถ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน และเกษตรกรในการนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
     
            พร้อมทั้งการนำเถ้าชีวมวลไปพัฒนาเป็นปุ๋ยอินทรีย์และการปรับปรุงดิน ตลอดจนกำหนดพื้นที่ในการรับซื้อเศษวัสดุทางการเกษตรมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มที่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกร นับเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในการดำเนินการร่วมกันเพื่อสร้างมูลค่าจากวัสดุการเกษตรของเกษตรกร ลดการเผาวัสดุการเกษตร เสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร สร้างสมดุลระบบนิเวศแก่ชุมชนต่อไป
                อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรยังเชื่อมั่นว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นโครงการดี ๆ อีกหนึ่งโครงการที่มีส่วนช่วยผลักดันให้คนไทยหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชน เป็นการทำความดีด้วยหัวใจ ลดพิษภัยสิ่งแวดล้อม ถวายในหลวง รัชกาลที่ 10 และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับวัสดุการเกษตรเหลือใช้ในไร่นา เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมสร้างสมดุลระบบนิเวศในชุมชนอย่างยั่งยืน และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้นต่อไป



ติดต่อสอบถาม