สวัสดี

ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน  (อ่าน 4280 ครั้ง)

Admin
  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 1088
    • ดูรายละเอียด
วิธีสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน
« เมื่อ: กรกฎาคม 20, 2022, 09:27:10 AM »
สร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน”
น้ำใต้ดินระบบเปิด มีหลักการสำคัญคือ พยายามเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทะลุชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ต่อเชื่อมกับชั้นน้ำบาดาล วิธีนี้จะเก็บน้ำได้ปริมาณมาก เพราะสามารถกระจายน้ำไปได้ทั่ว โดยไม่มีขีดจำกัด ระบบนี้สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้จากบ่อกักเก็บและส่งน้ำหรือจากบ่อน้ำบาดาล วิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากบ่อมาใช้ได้โดยไม่หมด เมื่อปริมาณน้ำลดลง น้ำจากใต้ดินก็จะซึมซับกลับเข้ามาเติมเต็มปริมาณน้ำในบ่อให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมามักเลือกทำบ่อระบบเปิดโดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็ม

วิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด คือ การขุดบ่อน้ำหรือสระน้ำให้ได้ความลึกทะลุผ่านชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้หินอุ้มน้ำสามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน ขนาดของบ่อจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ของน้ำจากบ่อ ระดับความลึกของการขุดบ่อในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน จะขึ้นอยู่กับสภาพดินและชั้นหิน ซึ่งโดยหลักการให้เป็นไปตามหลักอุทกธรณีวิทยา แต่ต้องขุดลึกให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

จากต้นแบบระบบบ่อเปิดของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณได้ขุดบ่อให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ โดยประมาณความลึก 7-15 เมตร เช่น การขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีขนาดความกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร หรือการขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ให้มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร

แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ลักษณะการขุดสระต้องให้มีความลาดชัน 45 องศา ปากบ่อกว้างกว่าก้นบ่อ การขุดบ่อในลักษณะลาดชันเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้น้ำในบ่อไหลลงสู่ก้นบ่อโดยมีแรงกดของมวลน้ำลงไปยังชั้นหินอุ้มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้น้ำไหลซึมลงสู่หินอุ้มน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยการขุดบ่อระบบเปิดนี้ไม่ควรปั้นดินรอบๆ บ่อ เพราะจะส่งผลกีดขวางทางน้ำที่จะไหลลงสู่บ่อ ทั้งนี้รูปแบบและขนาดของบ่อต้องออกแบบตามบริบทด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดที่เป็นการขุดบ่อใหม่ ไม่ใช่การปรับสระน้ำเก่าที่มีอยู่เดิม การวางตำแหน่งของบ่อใหม่ควรจะต้องให้ตั้งฉากหรือขนานกับทิศตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เพราะจะช่วยให้การเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด
การขุดบ่อกักเก็บน้ำตามระบบบ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินที่จะได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำนั้น ควรออกแบบทำระบบบ่อเปิดใหม่ที่มีความเหมาะสมตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั้งเชิงพื้นที่และทิศ แต่อาจต้องใช้งบประมาณสูง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการปรับสภาพบ่อเดิมหรือสระน้ำเดิม ให้สามารถใช้งานได้ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

โดยหลักการแล้ว การขุดบ่อระบบเปิดที่จะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องทำเป็นกลุ่มบ่ออย่างน้อย 3 บ่อ โดยแต่ละบ่อห่างกันประมาณ 1,000-1,500 เมตร บ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินจะมีหน้าที่เติมน้ำลงดินในระดับชั้นหินอุ้มน้ำเพื่อให้น้ำที่เติมลงไปสามารถเชื่อมประสานเสริมกันในระหว่างบ่อที่ขุดไว้ทั้ง 3 บ่อ เป็นการกระจายน้ำลงใต้ดินให้ทั่วถึงกันในระดับชั้นหินอุ้มน้ำ

และในขณะเดียวกัน น้ำจากใต้ดินก็จะซึมผ่านขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้แห้ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้โดยตรง ทั้งนี้ หากมีการออกแบบบ่อเปิดอย่างเหมาะสมตามระบบบริหารจัดการน้ำของธนาคารน้ำใต้ดิน จะช่วยเสริมให้น้ำในบ่อหรือสระมีเพียงพอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นนอน ขอแนะนำอีกประการหนึ่งของการขุดบ่อเปิด คือรอบปากบ่อควรปลูกหญ้ารอบๆ บ่อ เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินและเป็นการกรองน้ำที่ไหลลงบ่อหรือสระด้วย

การออกแบบระบบบ่อเปิดตามแนวทางสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ สามารถจำแนกได้ตามความเหมาะสมของลักษณะพื้นที่และความต้องการใช้ประโยชน์ได้เป็น 3 รูปแบบ คือรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรูปทรงกลม

ใช้บ่อเก่า ทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด
หากพื้นที่ใดมีบ่อเดิมหรือบ่อเก่า ก็ประยุกต์เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดได้เช่นกัน โดยทั่วไปบ่อเก่ามักจะขุดดินแค่ดินอ่อนหรือชั้นดินเหนียว ทำให้บ่อหรือสระดังกล่าวขาดประสิทธิภาพในการเพิ่มหรือเติมน้ำตามแนวทางธนาคารน้ำใต้ดิน จึงมักพบปัญหาน้ำแห้ง สามารถแก้ไขได้โดยทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด โดยขุดบ่อขนาดเล็กประมาณ 1-3 เมตร ในพื้นที่ก้นบ่อหรือสระน้ำเดิม ขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จำนวน 3 บ่อ ให้ขนานกับทิศ และให้ 3 บ่อดังกล่าวอยู่ในรูปแบบสามเหลี่ยมตามหลักทิศทางการหมุนรอบตัวเองของโลก บ่อขนาดเล็กทั้ง 3 บ่อ จะทำหน้าที่ในการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงฤดูฝนลงไปเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำและหล่อเลี้ยงระดับน้ำในชั้นใต้ดิน เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง น้ำในชั้นใต้ดินก็จะซึมขึ้นมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระเดิมไม่ให้แห้ง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูแล้ง

แม่น้ำ ลำคลอง ก็ทำธนาคารน้ำใต้ดินได้
ในกรณีที่ต้องการปรับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ฯลฯ ให้เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ก็สามารถทำได้ โดยจะใช้เครื่องเจาะบ่อที่ใช้เจาะดินเพื่อลงเสา หรือเครื่องเจาะน้ำบาดาล โดยเจาะลงตำแหน่งกลางแม่น้ำหรือริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทและลักษณะของแหล่งน้ำที่จะเจาะ โดยเจาะให้ผ่านชั้นดินอ่อนและชั้นดินเหนียวจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ โดยปกติแล้วความลึกอยู่ประมาณ 10-15 เมตร จากนั้น นำหินแม่น้ำใส่ลงไปยังช่องบ่อที่เจาะไว้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำ ควรใช้ท่อน้ำ พีวีซี วางตั้งฉากกับก้นหลุมปลายท่อเหนือพื้นดินตามความเหมาะสม แล้วบรรจุหินแม่น้ำในส่วนที่เจาะลงไป โดยให้ปลายท่อมีความสูงกว่าขอบคลองเล็กน้อยตามความเหมาะสม

ข้อสังเกตหลังจากเจาะบ่อดังกล่าวแล้ว พบว่า ช่วง 1-2 วัน หลังจากเจาะน้ำในแหล่งน้ำดังกล่าวจะแห้งลดลง แต่หลังจากนั้นน้ำจะคืนกลับสู่แหล่งน้ำเดิมโดยระบบน้ำบาดาลใต้ดินจะเชื่อมกันจนเป็นระบบการไหลเวียนของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขบ่อเดิมที่มีน้ำจะตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของแหล่งน้ำ และการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยลักษณะของการทำธนาคารน้ำใต้ดินกรณีแก้ไขบ่อเดิมที่มีน้ำดังกล่าวนี้ บ่อที่เจาะจะมีคุณสมบัติในการซึมน้ำลงดินและทำหน้าที่คืนน้ำสะอาดกลับแหล่งน้ำเดิมอีกด้วย



ติดต่อสอบถาม